โรคเก๊าท์ (Gout)
เขียนโดย supamitrsena เมื่อ Wed 20 Oct, 2021

กรดยูริกเปรียบเสมือนของเสียในร่างกายที่เหลือจากการกำจัดเซลล์ที่หมดอายุลง โดยร่างกายจะมีการปรับสมดุลของกรดยูริกด้วยการกรองจากไตก่อนมีการขับออกทางปัสสาวะและอุจจาระ เมื่อมีปริมาณกรดยูริกมากขึ้นจากการสร้างของร่างกาย จากการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง หรือไตมีความผิดปกติในการกรองสารพิวรีน มักนำไปสู่ภาวะกรดยูริกในเลือดสูงได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิด แต่พบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่มีความเกี่ยวข้องกัน เช่น

  • การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก
  • การรับประทานอาหารทีมีสารพิวรีนมาก เช่น สัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ ยอดผัก กุ้งเคยหรือกะปิ ปลาซาร์ดีน หอยแมลงภู่ สารสกัดจากยีสต์
  • ได้รับวิตามินซีไม่เพียงพอ
  • การดื่มน้ำอัดลมเกินปริมาณที่พอดีต่อวัน รวมไปถึงผลไม้และน้ำผลไม้บางชนิดที่มีน้ำตาลฟรุกโตสอยู่มาก
  • อาการเจ็บป่วยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเซลล์ในร่างกายอย่างรวดเร็ว เช่น โรคสะเก็ดเงินขั้นรุนแรง หรือความผิดของเลือดบางโรค
  • ยาบางชนิดที่ส่งผลเพิ่มระดับกรดยูริกในร่างกาย เช่น ยาขับปัสสาวะ  ยาเคมีบำบัดบางชนิด ยาแอสไพริน และยาลดความดันโลหิตบางชนิด
  • โรคประจำตัวหรือสภาวะของร่างกายบางอย่าง เช่น ภาวะอ้วน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ ไตทำงานผิดปกติ โรคเบาหวาน โรคพร่องเอนไซม์ ความผิดปกติของไขกระดูก โรคหลอดเลือดผิดปกติ
  • พันธุกรรม พบว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยโรคเก๊าท์จะมีบุคคลในครอบครัวเป็นเก๊าท์ด้วยเช่นกัน

อาการของโรคเก๊าท์

มักมีอาการปวดบวมอักเสบอย่างรุนแรงตามข้อโดยเฉพาะข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า แต่ก็สามารถเกิดกับข้ออื่นๆตามร่างกายได้ เช่น ข้อเท้า หัวเข่า ข้อศอก ข้อมือ อาการปวดจะรุนแรงที่สุดในช่วง 4-12 ชั่วโมงแรก ปวกอักเสบจนสัมผัสอะไรไม่ได้เลย มีไข้ได้ จากนั้นจะเริ่มปวดน้อยลงภายใน 7-10 วัน แต่ในบางรายอาจมีอาการปวดได้นานหลายวันจนถึงหลายสัปดาห์ ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่ถูกต้อง จำนวนข้อที่อักเสบจะเพิ่มขึ้น เริ่มพบที่ข้อมือ ข้อนิ้วมือ และข้อศอก การอักเสบรุนแรงขึ้น เป็นถี่ขึ้นและนานขึ้น จนกลายเป็นการอักเสบเรื้อรังจนไม่มีช่วงหายสนิทมีอาการปวดทุกวัน และมีการทำลายกระดูกและข้อทำให้เกิดการเสื่อมสภาพเร็วขึ้น จนเกิดภาวะพิการผิดรูปได้ด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเก๊าท์

โรคเก๊าท์อาจรุนแรงมากขึ้นหากไม่มีการรักษาอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการของโรคบ่อยมากขึ้นไปจนถึงการเกิดก้อนโทฟี่หรือปุ่มนูนใต้ผิวหนังในหลายส่วนของร่างกาย เช่น ตามนิ้วมือ เท้า ข้อศอก หรือเอ็นร้อยหวายเมื่ออาการของโรคกำเริบอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ ปวดตามข้อ ข้อต่อบิดเบี้ยวจนผิดรูปไปจากเดิม นอกจากนี้ยังมีโอกาสเกิดนิ่วในไตซึ่งอาจนำไปสู่การทำงานของไตที่ปกติหรือเกิดภาวะไตวาย

การวินิจฉัยโรคเก๊าท์

แพทย์จะสอบถามอาการ ลักษณะอาการปวด ข้อที่ปวด ประวัติการเป็นโรคเก๊าท์ในครอบครัว การตรวจร่างกายทั่วไป ใช้เป็นข้อมูลช่วยในการวินิจฉัยโรคว่าเป็นโรคเก๊าท์จริงหรือเปล่า หรือเป็นของข้อชนิดอื่น หลังจากนั้นจะมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติมอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ เช่น

  • การเจาะข้อ มักถูกใช้เป็นวิธีหลักในการตรวจวินิจฉัย โดยเฉพาะหากมีการอักเสบเพียงข้อเดียว หรือตรวจแล้วมีน้ำภาบในข้อมาก แพทย์จะนำเข็มเจาะบริเวณข้อที่มีอาการ เพื่อดูดเอาน้ำในข้อออกมาตรวจดูการสะสมของผลึกยูเรต (Urate Crystals) ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ และยังสามารถตรวจหาการอักเสบหรือติดเชื้อชนิดอื่นๆได้อีกด้วย
  • การตรวจเลือด เพื่อตรวจวัดระดับของกรดยูริกและค่าการทำงานของไตว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่
  • การเอกซเรย์ การถ่ายเอกซเรย์บริเวณข้อที่มีอาการ เพื่อตรวจดูว่ามีลักษณะจำเพาะต่อโรคเก๊าท์และมีการทำลายกระดูกและข้อไปแล้วหรือยัง
  • การอัลตราซาวด์ จะช่วยตรวจพบการสะสมของผลึกยูเรตตามข้อจนเป็นปุ่มนูนหรือก้อนที่เรียกว่า โทฟี่ (Tophi)  
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน เพื่อตรวจหาการสะสมของผลึกยูเรตตามข้อได้ แต่ไม่ค่อยนิยม เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับวิธีปกติ

การรักษาโรคเก๊าท์

โรคเก๊าท์สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาเป็นหลัก ซึ่งแพทย์จะพิจารณาดูจากหลายปัจจัยประกอบในการเลือกใช้ยาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ทั้งอาการของโรค สุขภาพโดยรวม ควบคู่กับการปฏิบัติตนเพื่อเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของโรค

การลดอาการปวด ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการปวดในเบื้องต้นได้ด้วยการหยุดเคลื่อนไหวบริเวณที่มีอาการปวดอย่างน้อย 24 ชั่วโมง มีอาการบวมแดงอาจบรรเทาด้วยการประคบน้ำแข็ง หรือรับประทานยาในกลุ่มยาแก้ปวด ยาลดไข้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานแอสไพริน

การรักษาด้วยการใช้ยา เป็นการใช้ยาในการบรรเทาอาการของโรคให้ลดลงและเป็นวิธีหลักในการรักษาเก๊าท์แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์ก่อน ตัวยาที่ใช้รักษาโรคเก๊าท์มีอยู่หลายกลุ่ม เช่น

  • ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal Anti-inflammatory Drugs: NSAIDs) เป็นยาที่หาซื้อได้ทั่วไป เช่น ยาไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen) ยาอินโดเมธาซิน (Indomethacin) ยาเซเลโคซิบ (Celecoxib) หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาในปริมาณที่สูงขึ้นในช่วงแรก แล้วค่อยลดปริมาณการใช้ยาลงผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้อง เกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร และเป็นพิษต่อไตได้ หากใช้เป็นเวลานาน
  • ยาโคลชิซิน (Colchicine) เป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาโรคเก๊าท์ โดยในช่วงแรกอาจมีการใช้ยาในปริมาณที่สูงก่อนจะลดปริมาณยาลงเมื่ออาการปวดของผู้ป่วยทุเลาลง แต่ผลข้างเคียงของการใช้ยาชนิดนี้อาจส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียถ่ายเหลวได้
  • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยาในสองกลุ่มแรกได้ช่วยควบคุมการอักเสบและอาการปวดของโรค มีทั้งรูปแบบยาเม็ดและยาฉีด ผลข้างเคียงของยาอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตตสูงขึ้น และไม่เหมาะสมในผู้ป่วยบางราย ยาชนิดนี้จึงไม่แนะนำให้ซื้อกินเอง
  • ควรหลีกเลี่ยงยาAspirinในการลดปวด

ยากลุ่มอื่นๆที่ช่วยรักษาโรคเก๊าท์ แพทย์จะสั่งให้หลังจากที่พ้นช่วงอักเสบเฉียบพลันไปแล้ว ได้แก่

  • ยายับยั้งการสร้างกรดยูริก (Xanthine Oxidase Inhibitors) เป็นยาที่ช่วยจำกัดการผลิตกรดยูริกของร่างกาย เช่น ยาอัลโลพูรินอล (Allopurinol) ยาฟีบัคโซสตัต (Febuxostat) ซึ่งจะช่วยให้ระดับกรดยูริกในเลือดลดลง มีข้างเคียงได้แก่ ผื่นแพ้ คลื่นไส้ และลดการทำงานของตับ   ซึ่งยากลุ่มนี้พบว่ามีอาการแพ้ยาได้บ่อยๆ โดยในปัจจุบันก็มีการตรวจเลือดเพื่อหาความเสี่ยงต่อการแพ้ยากลุ่มนี้ได้แล้ว
  • ยาช่วยขับกรดยูริก เป็นยาที่ช่วยเพิ่มการทำงานของไตให้มีการขับกรดยูริกออกมากับปัสสาวะมากขึ้น เช่น โพรเบเนซิด (Probenecid) ซึ่งทำให้กรดยูริกในเลือดมีปริมาณลดลง แต่อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีผื่นขึ้น ปวดท้อง หรือเกิดนิ่วในไตได้

การผ่าตัด การรักษาด้วยการผ่าตัดมักจะไม่ค่อยได้ทำในโรคเก๊าท์เท่าไรนัก มักใช้ในกรณีที่อาการของโรคมีการพัฒนาจนรุนแรงขึ้นกลายเป็นปุ่มนูนหรือก้อนผิดรูปไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา จนสร้างปัญหาให้กับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การผ่าตัดก้อน การผ่าตัดข้อเข่าเทียม การผ่าตัดเชื่อมข้อต่างๆเป็นต้น

การปฏิบัติตนเมื่อเป็นโรคเก๊าท์ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางส่วนอาจมีส่วนช่วยให้อาการของโรคทุเลาลงได้ตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยให้ร่างกายขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ และไม่ทำให้เกิดการตกตะกอนในระบบทางเดินปัสสาวะที่นำไปสู่การเกิดนิ่วในไต
  • หลีกเลี่ยงหรือจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ให้อยู่ในปริมาณที่พอดี
  • ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มที่มีความหวานมาก โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลฟรุกโตส
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล สัตว์ปีก ถั่วบางชนิด สารสกัดจากยีสต์ แต่อาจทดแทนด้วยโปรตีนที่ได้จากผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันต่ำ
  • ผู้ที่มีภาวะอ้วนควรลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ไม่ควรอดอาหารหรือลดน้ำหนักรวดเร็วจนเกินไป

อาหารใดบ้างที่ผู้เป็นโรคเก๊าท์ควรหลีกเลี่ยง

  • อาหารทะเล เช่น ไข่ปลา กุ้ง และหอย เป็นต้น
  • น้ำหวาน
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ถั่วบางชนิด เช่น ถั่วแดง ถั่วเขียว และถั่วเหลือง
  • ผักบางชนิด เช่น หน่อไม้ เห็ด และชะอม
  • เครื่องในสัตว์ทุกชนิด
  • เนื้อสัตว์สีแดง

ทานไก่เยอะทานไก่มากเสี่ยงโรคเก๊าท์หรือไม่

จริงๆแล้วในเนื้อไก่ ไม่ได้มีกรดยูริกมาก และไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคเก๊าท์การเกิดเก๊าท์จะเกี่ยวกับกรดยูริกที่ร่างกายเราสร้างขึ้นมาเองมากกว่าอาหารที่กินเข้าไป  ดังนั้นในคนปกติ สามารถกินไก่ได้  ไม่ทำให้เป็นเก๊าท์ครับ

แต่ถึงแม้ว่าการทานไก่จะไม่ใช่สาเหตุของการเกิดโรคเก๊าท์ ในอีกทางหนึ่งสำหรับผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์อยู่แล้วการทานไก่หรืออาหารที่มีโปรตีนสูง และกรดยูริกสูงจะทำให้อาการกำเริบขึ้นมาได้ ดังนั้นจึงแนะนำว่าผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์อยู่แล้วจึงควรหลีกเลี่ยงการทานไก่นั่นเอง

สุดท้ายหากท่านมีอาการปวดหรือข้ออักเสบผิดปกติ หมอจึงแนะนำว่าควรไปตรวจรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัย การรักษา และคำแนะนำที่เหมาะสม ก่อนที่โรคจะเป็นมากจนเกิดภาวะแทรกซ้อนไปแล้ว